Featured Image

กำเนิดพระภูมิ...เจ้าที่

ตามตำนานในคำภีร์พรมจุติได้กล่าวไว้ว่า...

ได้มีจอมกษัตริย์นามว่า "ท้าวทศราช" บ้างทีก็เรียกว่า "ท้าวโสกราช" ส่วนทางภาคอีสานนั้นมักจะเรียกว่า "ท้าวสกราช" ซึ่งก็คงจะเพี้ยนคำมาจากโสกราช อีกนานหนึ่งก็เรียกว่า "ท้าวการทัตต์" (ผู้ซึ่งเป็นกษัตริย์ครอง กรุงพาลี หรือกรุงพลีก็เรียก ตามแต่ความเป็นมาของความเชื่อในแต่ละภาค ซึ่งก็อาจจะมีย่อยออกไปบ้าง หากแต่ใจความก็ละม้ายคลายกันทั้งนั้น เนื่องมาจากตำราฉบับเดียวกัน เพียงเพี้ยนออกไปตามประเพณีพื้นบ้าน ซึ่งหากจะเป็นพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวใน "นารายณ์สิบปาง" ก็จะกล่าวถึงพระภูมิ ผู้เป็นเจ้าของพระภูมิ ผู้เป็นเจ้าของแผ่นดินเอาไว้ว่า...

ท้าวทศราชเจ้ากรุงพาลี หรือเรียกกันว่า ท้าวพลีก็เรียก เป็นปางที่ 5 ของนารายณ์สิบปาง มีใจความโดยย่อดังต่อไปนี้

"มียักษ์ตนหนึ่งชื่อ "พลี" ถูกเทวดาฆ่าตายใจสงครามกวนน้ำทิพย์พวกพ้องจึงนำศพไปให้พราหมณ์ "ภาร์ควะ" ชุบชีวิตให้กลับฟื้นคืนมาใหม่ แล้วตบะกิจทำพิธืจนเรืองฤทธิ์ จากนั้นก็ได้ยกทัพไปแก้แค้นพระอินทร์ ผู้เป็นหัวหน้าเทพทั้งหลาย จนท้าวพลีได้รับชัยชนะเป็นผู้เข้าครองโลกทั้ง 3 คือ สวรรค์ มนุษย์ และบาดาล อยู่ระยะหนึ่งจนกระทั่งเทวดาพากันไปอัญเชิญพระนารายณ์ มาปราบจึงได้แผ่นดินคืนมา ส่วนท้าวพลีก็ได้ถูกลงโทษให้ไปอยู่ในโลกบาดาล ท้าวพลีจึงได้ทูลอ้อนวอนขอประทานอภัยโทษจากพระนารายณ์ พระองค์จึงโปรดยกโทษ และประทานให้ไปครองแดน "สตุล" คือภาคสูงสุดของเมืองบาดาล

ดังตอนหนึ่งในโคลง 4 ในพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 6 ว่า

ขุนมารจงย้าย อยู่พลัน
ไปอยู่แดนสตุล เขตแคว้น
เจ้าจงครอบครองขัณฑ์ ทรงราชย์
เป็นสุขสนุกแม้น แดนสรวง

แล้วองค์พระนารายณ์ก็ยังทรงโปรดประทานพรแก่ท้าวพลีที่จะไปครองเมื่องสุตลด้วยว่า

ยามดีจะมอมให้ ครองสรวง
เป็นที่พระอินทร์เอก ขะคร้าว
เสพทัพยะสุธปวง สมปรารถนาแฮ
เป็นใหญ่โนภพด้าว สามแดน

จากโครงบาทท้าย "เป็นใหญ่ในภพด้าวสามแนดน" นั้น

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ในอภิธานประกอบเรื่องนารายณ์สิบปางให้ความหมายว่า อาศัยเหตุที่ท้าวพลีได้เคยครองไตรโลกมาแล้วครั้งหนึ่งและได้รับพระวิษณุเป็นเจ้าไว้ว่าจะได้ครองอีกครั้งหนึ่งในอนาคต จึงจะเห็นได้ว่า เมื่อเวลาที่โหรทำการบูชาพระภูมิมักจะกล่าวว่า

"โอมพระภูมิ พระธรณี กรุงพลีเรืองฤทธิ์"

ก็เพราะเหตุนี้ดังนี้เอง... ความเชื่อนี้ก็สืบต่อกันมานานในศาสนาพราหมณ์ จะเพี้ยนกันออกไปบ้างก็เพียงเล็กน้อย ดั่งพรนามที่เรียกว่า ท้าวพลี นี้ ก็คงมาจากที่พระองค์ทรงเป็นเจ้าครองกรุงพาลี หรือกรุงพลี จึงทรงได้รับการขนานนามเช่นนี้ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิด เพราะต่างก็มาจากตำนานเดียวกันอย่างที่บอกข้างต้นแล้ว ทีนี้ก็วกกลับมาที่ท้าวพลีหรือท้าวทศราชอีก

ท้าวทศราช (ท้าวพลี) มีพระมเหสีทรงพระนามว่า พระนางมันทาทุกาธิบดี ทั้งสองพระองค์มีโอรสด้วยกัน 9 องค์ และเมื่อโอรสทั้ง 9 องค์ทรงเจริญวัย ก็ล้วนแล้วแต่มีพระปรีชาสามารถกันทุกองค์ ดังนั้นท่านท้าวทศราชแห่งกรุงพาลี จึงได้ส่งโอรสแต่ละองค์ไปดูแลรักษาพื้นแผ่นดิน ถิ่นฐานต่าง ๆ ที่เป็นดินแดนอยู่ภายใต้การปกครองของพระองค์

โดยพระโอรสแต่ละองค์จะแยกย้ายกันออกไปดูแลตามแต่ความสามารถและความถนัดของตนดังนี้

องค์ที่แรก นามพระชัยมงคล ไปรักษาเคหะสถาน และบันได
องค์ที่สอง นามพระนครราช ไปรักษาค่ายทหาร ทวาร บันได
องค์ที่สาม นามพระเทวเถร ไปรักษาคอกสัตว์ต่าง ๆ (บ้างก็เรียกพระเกเพน หรือเกวเภร)
องค์ที่สี่ นามพระชัยสพ ไปรักษายุ้งฉางข้าว และเสบียงคลังต่าง ๆ (บางฉบับก็เรียกว่าพระชัยโภศพณ์)
องค์ที่ห้า นามพระคนธรรพ์ รักษาโรงพิธีอาวาห์และวิวาห์ เรือนหอบ่าวสาว
องค์ที่หก นามพระธรรมโหรา หรือพระเยาวแผ้วให้ไปรักษาที่นา ทุ่งลาน และป่าเขา (ทางภาคอีสารเรียกว่าผีตาแฮก รักษานา ไร่)
องค์ที่เจ็ด นามพระวัยทัตบ้างก็เรียกว่าพระสุธาจะ หรือพระศรัทธาให้ไปรักษาอารามวิหารและปูชนียวัตถุสถานต่าง ๆ
องค์ที่แปด นามพระธรรมิกราช หรือธรรมมิกฤช ไปรักษาอุทยานสวนผลไม้และพืชพันธุ์ต่าง ๆ
องค์ที่เก้า นามพระธาตุธารา ไปรักษาห้วยหนองคลองคู บึงและแม่น้ำต่าง ๆ

จากที่กล่าวมาข้างต้นนี้บางคนถึงกับร้อง "อ๋อ" นึกออกแล้ว ที่เข้ากราบไหว้กันเป็นเพราะอย่างนี้นี่เองอย่างที่เราเคยเห็นมีเรือนหลังเล็ก ๆ ตั้งเอาไว้ตามสถานที่ต่าง ๆ นั้นก็คงจะเป็นที่อยู่ของโอรสทั้ง 9 องค์ซึ่งรุ่นเก่าต่างก็ทราบกันดี และจะเรียกบ้านที่เห็นนี้เป็นบ้านของผู้ที่ฐานะเป็น "พระภูมิ" หรือ "พระภูมิเจ้าที่"

พระภูมิ ก็คือ ผู้ที่เป็ฯเจ้าของแผ่นดิน หรือเทวาประจำพื้นที่ อาคารสถานที่แห่งนั้น
พระภูมิเจ้าที่ คือ เทวดาผู้ที่ทำหน้าที่รักษาอาณาเขตที่ดิน ที่เจ้าของที่ดินอัญเชิญสิงสถิตบนศาลที่เตรียมไว้

ชาวบ้านมักจะเรียกกันจนติดปากตามภาษาพื้นบ้านให้เป็ฯที่รู้และเข้าใจกันคือ
พระภูมิเฮือน(เรือน)
พระภูมิประตูและหัวกระได(ทวารบาน หรือ เชียวกาง)
พระภูมิเรือนหอ
พระภูมิวัว-ควาย
พระภูมิยุ้งฉางข้าว
พระภูมินา
พระภูมิสวน
พระภูมิลาน
พระภูมิวัด ฯลฯ

ทั้งหมดที่เรียกมานี้... ที่แท้จริงแล้วหากไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญหรือ หมดสูตร (ผู้รู้ ที่อาจจะพราหมณ์ และฆราวาส) ก็จะเรียกกันเอาอย่างง่าย ๆ นี้เพราะแทบจะไม่มีใครรู้จักนามจริงของพระภูมิเท่าใดนัก อาจจะเป็นด้วยเหตุว่าชื่อเรียกยาก และยาวเกินไป จึงหันมาเรียกเอาสถานที่ที่พระภูมิสิงสถิตอยู่เป็นหลักในการจำก็เป็นอันว่ารู้กัน รวมถึงการตระเตรียมเครื่องสังเวย ก็จะแยกออกไปตามแต่ละองค์ ได้อย่างถูกต้อง และง่ายขึ้นด้วย